วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ยึดโยงอาเซียน-จีน-อินเดียอย่ามองข้ามลาว จากLand lock to Land link

กลุ่ม ประเทศอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน หรือAEC ในปี 2558 โดยนอกเหนือจากการรวมกลุ่มของ 10 ประเทศแล้ว ยังมีการมองถึงการเชื่อมโยงเข้าหาประเทศมหาอำนาจใหม่ในเอเชีย อันได้แก่ จีนและอินเดีย ภายใต้โครงการความร่วมมือต่างๆ มากมาย ลาว จึงกลายเป็นประเทศที่มีความสำคัญสำหรับไทยและอาเซียน
วิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บรรยายพิเศษให้คณะนักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูงรุ่นที่ 16 หรือ ปปร. 16 ที่เดินทางไปดูงานยังจ.อุดรธานี หนองคาย และนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ว่า เดิมลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล หรือแลนด์ล็อก (Land Locked) ทว่าจากแผนการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในอาเซียนและการขยายความร่วมมือออกไปอีก ทำให้ลาวเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ลาวแปรสภาพจากประเทศแลนด์ล็อกเป็นแลนด์ลิงค์ (Land Linked) เชื่อมอินเดียและจีนเข้ามายังอาเซียน
เริ่มจาก การจัดตั้งกลุ่มประเทศระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(Greater Mekong Subregion Corridors ) ของ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม การเกษตรบริการ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีแนวทางสำคัญ อาทิการสร้างเส้นทางคมนาคมยึดโยงเข้าหากัน โดยมีเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญๆ 3 เส้นทาง และลาวจะกลายเป็นจุดเชื่อมโยงหลักคือ
1. เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9) เส้นทางดังกล่าวระยะทาง 1,450 กม. เริ่มจากเมืองท่าดานังผ่านเมืองเว้ เมืองลาวบาว อันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนาม ผ่านเข้าแขวงสะหวันนะเขตในลาว มาข้ามสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เข้าไทยที่ จ.มุกดาหาร ผ่านกาฬสินธุ์ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก จนไปสุดที่ อ.แม่สอดตาก เข้าไปยังประเทศพม่าจนทะลุอ่าวเมาะตะมะที่เมืองเมาะลาไย หรือมะละแหม่ง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังอินเดียและตะวันออกกลาง
2. เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้(North-South Economic Corridor : NSEC) หรือเส้นทาง R3E หรือ R3A เป็นเส้นทางเชื่อมโยงทางบกระหว่างนครคุนหมิงกับกรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 1,800 กิโลเมตร โดยผ่าน 3 ประเทศ คือ จีนตอนใต้ ลาว และไทย
3. เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) เชื่อมโยงไทย-กัมพูชาเวียดนาม มีเส้นทางย่อย ประกอบด้วย เส้นทางสายกลาง จากกรุงเทพฯ ผ่านพนมเปญไปยังโฮจิมินห์ ซิตีและสุดที่เมืองหวุงเต่ำ หรือวังเทา ริมชายทะเลเวียดนาม เส้นทางสายเหนือ เริ่มจากกรุงเทพฯ ไปยังอรัญประเทศ เมื่อเข้าเขตกัมพูชาแล้วจะแยกขึ้นเหนือผ่านเสียมราฐและไปสุดที่เมือง Quy Nhon ทางตอนกลางของเวียดนาม เส้นทางเลียบชายฝั่งด้านใต้เริ่มจากกรุงเทพฯ ผ่านทางภาคตะวันออกของไทยเลียบอ่าวไทยมาออกที่ จ.ตราด ข้ามมายังเกาะกงของกัมพูชาและไปสุดที่ปลายแหลมของเวียดนามที่เมือง Nam Can
อย่าง ไรก็ตาม ทั้งสามเส้นทางย่อย จะมีเส้นเชื่อมภายใน (Intercorridor Link) เป็นเส้นทางแนวตั้งผ่านกัมพูชาและลาว โดยทุกเส้นทาง ถ้าผ่านลาวจะเป็นเส้นสั้นที่สุด
นอกเหนือการเป็นศูนย์กลางเครือข่าย คมนาคมแล้ว ลาวยังมีศักยภาพด้านอื่นๆที่ไม่ควรมองข้ามอาทิ การเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย โดยผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำป้อนเข้าไทยและประเทศข้างเคียง และลาวยังเป็น 1 ใน 8 ประเทศทั่วโลกที่เป็นปอดของโลก
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ลาวเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่รายได้ประชากรสูงขึ้นมากสุดจาก 6.3 ล้านกีบ เป็น 8.35 ล้านกีบ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยปีละ 8% โตเป็นอันดับ 2 รองจากจีน หลวงพระบางเป็นเมืองที่น่าเที่ยวที่สุดในโลกและลาวเป็นประเทศที่มีความสุข ที่สุดในอันดับที่ 34
ลาวยังวางแผนเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านสำคัญ โดยดำเนินยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศเป็นประเทศอุตสาหกรรมและทันสมัย หรือ หันเป็นอุตสาหกรรม-หันเป็นทันสมัย (Realization of Industrialization and Modernization Strategy)
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ลาว ฉบับที่ 7 เน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีกฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ ตั้งตลาดหลักทรัพย์เปิดขาย เมื่อวันที่11/11/11 หรือวันที่ 11 พ.ย. 2011 และยังสมัครเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ปฏิรูประบบตุลาการพร้อมประกาศนโยบายปรับเปลี่ยนใหม่รอบด้าน เป้าหมายการพัฒนาของลาวในปี 2558 จำนวนครอบครัวยากจนต้องไม่เกิน 10% ของครอบครัวทั่วประเทศ โดยพลเมืองส่วนใหญ่สำเร็จมัธยมศึกษาตอนต้นและมีอายุขัยเฉลี่ย 68.3 ปี แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของลาว ยึดมั่นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลาง ขยายกำลังการผลิตเปลี่ยนเศรษฐกิจธรรมชาติสู่เศรษฐกิจสินค้า สร้างเศรษฐกิจตลาดตามทิศทางสังคมนิยม เพิ่มประสิทธิภาพของรัฐในการคุ้มครองเศรษฐกิจพัฒนาการเกษตรผสมผสานให้มีความ มั่นคงทางด้านอาหาร รักษาพื้นที่ป่าไม้
อย่างไรก็ตาม ลาวยังประกาศนโยบายชัดเจนก็คือ ความมั่นคงมาก่อนความมั่งคั่ง วัฒนธรรมนาเศรษฐกิจ ติดพันสภาพแวดล้อม หรือรักษาสภาพแวดล้อมนั่นเอง
ไทย ให้ความสำคัญกับลาวอย่างมาก ในฐานะญาติใกล้ชิด มิตรใกล้บ้านโดยสร้างชายแดนแห่งสันติสุขความร่วมมือและการพัฒนา ตอบสนองนโยบายลาว ร่วมกันวางแผนงานร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าครอบคลุมทุกมิติ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายเป็น 2 เท่าจาก 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 เป็น 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี2558 ขยายความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนลาวมีประชากร ประมาณ 6.8 ล้านคน ปกครองโดยระบบสังคมนิยมมากว่า 36 ปี โดยพรรคประชาชน มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีการลงทุนจากต่างชาติ ได้แก่ จีน เกาหลี และไทย แม้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องแต่ยังอยู่ในกลุ่มประเทศ ที่พัฒนาน้อย หรือ LDCs (Less Developed Countries) อนาคตของลาวจึงน่าจับตาทุกย่างก้าว การพัฒนาของลาวจะกลายเป็นการพัฒนาของไทย ผลประโยชน์ของลาวจะกลายเป็นผลประโยชน์ของไทยเช่นกัน ลาวจึงเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ห้ามมองข้ามอย่างเด็ดขาด
ที่มา : โพสต์ทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น